11 เคล็ดลับวิธีป้องกันและกำจัดเห็บหมัดในสุนัขแบบอยู่หมัด

กําจัดเห็บหมัดสุนัข

เรื่องของ “เห็บหมัด” อีกปัญหาที่คอยรบกวนใจบรรดาคุณพ่อคุณแม่เหล่าสัตว์เลี้ยงกันมาอย่างยาวนาน โดยเฉพาะช่วงหน้าฝนที่เป็นฤดูที่เหมาะแก่การแพร่พันธุ์ของบรรดาเห็บหมัดทั้งหลายเลยล่ะครับ โดยเมื่อเจ้าเห็บหมัดมากัดน้อง ๆ นอกจากอาการคันแล้ว ยังเสี่ยงต่อการเกิดโรคต่าง ๆ ตามได้หลายอย่างเลยครับ ไม่ว่าจะเป็น

  • โรคโลหิตจาง (Anemia) ที่สามารถเป็นสาเหตุของอาการ สุนัขเหงือกซีด
  • ผิวหนังอักเสบบริเวณที่ถูกกัด (Dermatitis)
  • ภาวะแพ้น้ำลายหมัด (Flea bite allergy)
  • โรคพยาธิในเลือด (Blood parasite)

ซึ่งถ้าหากถามสัตวแพทย์ทั่วทั้งโลกว่า “หมอมีวิธีการแก้ปัญหาเห็บหมัดที่ดีที่สุดและมีประสิทธิภาพมากที่สุดอย่างไร?” คำตอบก็คือ “การใช้ยาหรือผลิตภัณฑ์ป้องกันเห็บหมัดต่อเนื่องอย่างเป็นประจำ” แต่ … แค่เท่านั้นอาจจะยังไม่พอ! วันนี้หมอจะมาแนะอีก 11 วิธีที่จะทำให้น้อง ๆ ปลอดภัยจากเห็บหมัดมากที่สุดกันครับ

1 การใช้ผลิตภัณฑ์ป้องกันเห็บหมัดทั่วไปในท้องตลาดที่ได้มาตรฐาน

ในปัจจุบันแต่ละบริษัทได้ผลิตยาหรือผลิตภัณฑ์ป้องกันและกำจัดเห็บหมัดมาให้เลือกใช้กันอย่างหลากหลาย เช่น

  • ยาหยดหลังสุนัข / ยาหยดหลังแมว
  • ยากินรายเดือน/ราย 3 เดือน
  • สเปรย์พ่นกำจัดเห็บหมัด
  • ยาที่ใช้สำหรับอาบน้ำเพื่อกำจัดเห็บหมัด / แชมพูกำจัดเห็บหมัด
  • ปลอกคอกำจัดเห็บหมัด

แต่ละตัวก็จะมีรูปแบบการให้ยา กลไกการออกฤทธิ์ และประสิทธิภาพที่แตกต่างกันไป ซึ่งในการเลือกใช้ยาแต่ละตัวเราก็จะต้องคำนึงถึงปัจจัยทางด้านสุขภาพ, อายุ, ภาวะการตั้งท้องและการให้นมลูก, ความสะดวกในการให้ยา และปริมาณเห็บหมัดที่อยู่บนตัวน้อง ๆ แต่ไม่ต้องกังวลไปครับ! หมอแนะนำว่าถ้าไม่มั่นใจว่าจะเลือกใช้ตัวไหนดี แนะนำให้ปรึกษาสัตวแพทย์ทุกคนได้เลย ว่าแบบไหนจะเหมาะสมกับลูกๆของเรามากที่สุดครับ

2. การเก็บรักษายาหรือผลิตภัณฑ์ป้องกันและกำจัดเห็บหมัดให้เหมาะสมเพื่อประสิทธิภาพที่ดี

เพื่อคงคุณภาพและประสิทธิภาพของยา ผลิตภัณฑ์ป้องกันและกำจัดเห็บหมัดส่วนใหญ่จะแนะนำให้เก็บในที่พ้นจากแสงแดด แสง UV และอยู่ในอุณหภูมิห้องปกติ นอกจากนี้จะมียาบางชนิดอาจจะทำเป็นยาเม็ดที่มีกลิ่นคล้ายขนมเราก็อาจจะต้องเก็บให้พ้นพวกแมลง, มดต่าง ๆ ด้วยครับ

3. หมั่นคอยสังเกตตามตัวน้องหมาโดยเฉพาะเวลาออกไปเดินเล่นที่สนามหญ้า หรือบริเวณนอกบ้าน

เมื่อเวลาน้อง ๆ ออกไปวิ่งเล่น หรือออกไปขับถ่ายบริเวณนอกบ้านอาจจะทำให้มีเห็บและหมัดแอบตามติดกลับมาด้วย ซึ่งบอกเลยว่าประเทศไทยบ้านเรานั้นมีเยอะมาก ๆ จริง ๆ ครับ ถึงแม้ว่าเราจะใช้ผลิตภัณฑ์ป้องกันเห็บหมัดแล้วก็ตามแต่เราก็คงไม่อยากให้มันมีโอกาสขึ้นมาบนตัวน้องหมาของเราอยู่ดี เพราะฉะนั้นถ้าเราพอมีเวลาอาจจะหมั่นสังเกตตามบริเวณที่อาจจะมีเห็บหมัดติดมาได้

เช็คดูให้ดี! บริเวณที่เห็บหมัดมักแอบซ่อนอยู่

  • อุ้งเท้า (โดยเฉพาะบริเวณง่ามเท้า)
  • บริเวณขาด้านล่าง
  • ริมฝีปาก
  • รอบๆตาและบริเวณใบหู
วิธีกำจัดเห็บหมัดสุนัข

4 เมื่อยังพบเห็นเห็บและหมัดอยู่บนสัตว์ให้ใช้วิธีกำจัดที่เหมาะสม

จากข้อ 3 ที่ผ่านมา ทีนี้เมื่อเราเจอตัวเห็บหมัดแบบตัวเป็น ๆ แล้วเนี่ย … เราจะทำอย่างไรกับมันดี? อุปกรณ์ที่หาได้ง่ายส่วนใหญเลยก็คือ ‘คีมปากคีบ’ หรือ ‘แหนบ’ นั่นเอง พยายามหาอันที่ปากเล็ก ขอบไม่หนามาก บริเวณส่วนปากคีบยิ่งเล็กยิ่งดี เพราะว่าเห็บนั้นจะมีลำตัวใหญ่อ้วน แต่จะมีส่วนปากเล็กมีหนามเหมือนเป็นฉมวกเพื่อใช้กัดและยึดเกาะกับตัวน้องหมา

คราวนี้เวลาที่เราคีบตัวเห็บออกเราจะใช้บริเวณปลายของแหนบคีบไปที่ตำแหน่งที่ใกล้กับปากเห็บและผิวหนังของน้องหมามากที่สุดเพื่อที่จะไม่ทำให้ลำตัวเห็บแตกออกมาแล้วแพร่กระจายไปบริเวณอื่นได้ จากนั้นค่อยๆดึงลำตัวเห็บออกมาอย่างช้า ๆ อย่างระมัดระวัง เพื่อที่จะไม่ทำให้ส่วนของปากเห็บหลุดฝังไปที่ผิวหนังน้องหมา ยิ่งเราจัดการทำให้เห็บและหมัดมีโอกาสอยู่บนตัวน้องหมาได้น้อยมากที่สุดเท่าไหร่ ยิ่งทำให้น้อง ๆ ปลอดภัยจากโรคต่าง ๆ ที่มาจากเห็บหมัดได้มากที่สุดนั่นเองครับผม

วิธีคีบเห็บหมัดออกจากสุนัข

5. ลงทุนทำบ้านให้น้องหมาโดยเฉพาะไปเลย (กรณีเลี้ยงไว้นอกบ้าน)

บางบ้านที่อาจจะเลี้ยงน้องหมาไว้นอกบ้านหรือให้นอนนอกบ้านโดยเฉพาะพันธุ์กลาง-ใหญ่ เราอาจจะต้องจัดสรรพื้นที่บ้านให้เขาได้อยู่โดยเฉพาะ หรือถ้ามีกำลังทรัพย์เพียงพออาจจะจัดหาซื้อบ้านสุนัขไปเลย เพื่อที่เราจะสามารถดูแลป้องกันเห็บหมัดจากพื้นที่บริเวณนั้นได้อย่างมีประสิทธิภาพ โดยที่เราจะสามารถใช้น้ำยากำจัดเห็บหมัดแบบผสมน้ำคอยฉีดพ่นบริเวณที่นอนของน้อง ๆ และบริเวณรอบ ๆ ได้อย่างง่ายดาย

6. หมั่นคอยดูแลสนามหญ้าในบริเวณบ้าน โดยคอยตัดหญ้าให้สั้นมากที่สุด

บริเวณพื้นที่หญ้าสูง ๆ หรือที่รก ๆ ตามพงหญ้า มักจะเป็นแหล่งของพวกเห็บหมัดเลยเพราะฉะนั้นถ้าเราพยายามตัดหญ้าอยู่บ่อย ๆ จะช่วยให้เห็บหมัดกระโดดขึ้นมาบนตัวน้องหมาได้ยากขึ้น ก็จะเป็นการลดโอกาสและลดปริมาณเห็บหมัดที่เกาะตามตัวน้องหมาได้ด้วยครับ

7. จุดที่สังเกตได้สำหรับตัวหมัด คือบริเวณที่มีตำแหน่งขนบาง ๆ

โดยเฉพาะใต้ท้อง ขาหนีบด้านใน และรักแร้ เราอาจจะเจอเจ้าตัวหมัด (จะเป็นตัวเล็ก ๆ สีออกทองแดง) และเคลื่อนที่รวดเร็ว กระโดดได้ บางครั้งเราอาจจะเห็นพวก “ขี้หมัด” เป็นจุดสีดำ ๆ หรือสีแดงที่มาจากการกินเลือด เมื่อเราใช้ผลิตภัณฑ์กำจัดหมัดแล้วแต่ยังพบตัวหมัดในปริมาณที่เยอะอยู่ อาจจะต้องดูในส่วนของความถี่ในการใช้ยา และใช้ผลิตภัณฑ์ชนิดอื่นที่สามารถใช้ร่วมกันได้เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพในการกำจัดและป้องกันที่มากยิ่งขึ้น

ลงทะเบียนปรึกษา

8. ถ้าลูก ๆ เรามีกันหลายตัว แนะนำว่าควรกำหนดวันนัดป้องกันเห็บหมัดในวันเดียวกัน

ในกรณีที่บ้านมีน้อง ๆ อยู่ด้วยกันหลายตัว แนะนำให้ทำการป้องกันเห็บหมัดให้กับน้อง ๆ ภายในวันเดียวกัน เพราะหากสมมติเรามีน้องหมาอยู่ 2 ตัว ตัวหนึ่งทำการป้องกันเห็บหมัดเรียบร้อย แต่น้องอีกตัวจะยังคงมีเห็บหมัดที่อาศัยเกาะผิวหนังน้องได้อยู่ และอาจทำให้ยังมีการแพร่พันธุ์อยู่ ได้นั้น เพื่อที่จะได้กำจัดเห็บหมัดให้หมดในคราวเดียว แนะนำพาน้อง ๆ ป้องกัน-กำจัดเห็บหมัดในทีเดียวเลยจะดีที่สุดครับ

9. ควรทำความสะอาดที่นอนน้อง ๆ และบริเวณที่อยู่รอบ ๆ ในวันที่ใช้ผลิตภัณฑ์ป้องกันและกำจัดเห็บหมัด

เมื่อใช้ยาป้องกันเห็บหมัดไปแล้ว ในช่วงวันแรก ๆ เมื่อตัวยาออกฤทธิ์เราอาจจะเห็นเห็บหมัดเดินออกมาตายนอกตัวน้องหมา และบริเวณรอบ ๆ เราจึงอาจจะต้องนำพวกเบาะรองนอน หรือผ้าที่ใช้รองนอนไปทำความสะอาดซักด้วยผงซักฟอกธรรมดา และทำความสะอาดบริเวณพรม โซฟาโดยใช้เครื่องดูดฝุ่น และกวาดทำความสะอาดพื้นทั้งหมดอีกครั้บด้วยนะครับ

10. ใช้น้ำยากำจัดเห็บหมัดแบบผสมน้ำฉีดพ่น หรือสเปรย์กำจัดเห็บหมัด ถ้าหากพบว่ามีตัวเห็บหรือหมัดเดินอยู่ในบ้านหรือห้องในบ้านเรา

ถ้าเราพบตัวเห็บและหมัดบุกเข้ามาในบ้านเราแล้วสิ่งที่กำจัดได้ คือ พวกผลิตภัณสเปรย์กำจัดเห็บหมัด และยากำจัดเห็บหมัดแบบผสมน้ำ “ไบติคอล 6% Bayticol” โดยผสมไบติคอล 1 ซีซี ต่อน้ำ 1.5 ลิตร ใส่ฟ็อกกี้ฉีดพ่นบริเวณพื้น ตามซอกหลืบต่าง ๆ หรือใช้ถูพื้นให้ทั่วทั้งห้องได้เลยครับ แต่ทั้งนี้ หมอแนะนำว่าจะต้องงดใช้ห้องนั้นหรือบริเวณนั้นประมาณ 12-24 ชั่วโมงด้วยนะครับ เนื่องจากกลิ่นที่รุนแรงของน้ำยา โดยเราอาจจะฉีดน้ำยาทิ้งไว้ประมาณ 4-6 ชั่วโมง แล้วถูพื้นด้วยน้ำเปล่าซ้ำ หรือใช้ผ้าชุบน้ำเช็ดซ้ำบริเวณตามซอกหลืบก็ได้ครับ

11. หลีกเลี่ยงสิ่งแวดล้อมที่มีเห็บหมัด

ถ้าใช้วิธีทั้งหมดที่กล่าวมาข้างต้นแล้วยังพบเห็บหมัดเยอะอีก ต้องบอกว่าน้อง ๆ อาจจะอยู่ในแหล่งที่มีอภิมหาเห็บและหมัด  หรืออาจจะมีน้องจรที่อยู่ใกล้ ๆ คอยมาเที่ยวหากันอยู่บ่อย ๆ ถ้าเป็นแบบนี้ เราอาจจะต้องหลีกเลี่ยงสิ่งแวดล้อมที่อาจจะมีเห็บและหมัดอยู่เยอะ ๆ เพราะว่าต่อให้ใช้ยาแล้วทำให้ตัวเก่าตายไป แต่ตัวใหม่ก็ยังจะขึ้นมาได้เรื่อย ๆ อยู่ดีได้ครับ เราก็อาจจะต้องหลีกเลี่ยงสถานที่นั้นไปเลย ก็จะเป็นผลดีต่อน้อง ๆ มากกว่าครับ

ขอขอบคุณข้ออ้างอิงจาก American kennel club
READ VPN (รศ. สพ.ญ. ดร. มีนา สาริกะภูติ)

ติดต่อ – ปรึกษาแพทย์

  • Lakeside Villa 1 เลขที่ 901/3-5 (Shop 2) หมู่ 15 ถนน บางนา-ตราด, 
  • กรุงเทพมหานคร อำเภอบางพลี สมุทรปราการ 10540
  • เวลาทำการ : 09.00 – 20.00 น. (หยุดวันอังคาร)
  • เบอร์ติดต่อ : 065-526-5994
  • Line : @Ultravet

สัตวแพทย์ประจำ Ultravet Pet Wellness Clinic
น.สพ.ศุภกิตติ์ สีดำ (คุณหมอเอ็ม)

ลงทะเบียนปรึกษาหรือรับสิทธิพิเศษ ที่นี่


    Leave a Reply

    Your email address will not be published. Required fields are marked *