แมวอ้วน อันตรายมากกว่าน่ารัก! มาลดน้ำหนักให้น้อง ๆ กันดีกว่า

แมวอ้วน

คุณพ่อคุณแม่หลายคน อาจมองว่าน้องแมวอ้วนดูน่ารักน่าเอ็นดู น่ากอดน่าฟัด จึงมองข้ามเรื่องน้ำหนักแมวไป บางบ้านคิดจะลดน้ำหนักให้ลูก ๆ ทั้งการควบคุมอาหารและพาเดิน-วิ่งเล่น แต่ก็อดสงสารน้อง ๆ ไม่ได้ กลับมาให้ข้าวเยอะ ๆ หรือให้ขนมวันละหลายซองเหมือนเดิม แต่คุณพ่อคุณแม่ทราบไหมครับว่า ภาวะโรคแมวอ้วน ก็เหมือนกับโรคอ้วนในคนครับ ที่นอกจากจะส่งผลกระทบต่อรูปร่างแล้ว การที่ปล่อยให้มีน้ำหนักตัวเกินเกณฑ์มาตรฐาน จะทำให้น้องแมวเสี่ยงเป็นโรคร้ายแรงตามมาได้ รวมถึงทำให้มีอายุขัยเฉลี่ยสั้นลงอีกด้วยครับ หมอเลยอยากเชิญชวนทุกบ้านที่กำลังเผชิญปัญหาน้องแมวอ้วนอยู่ มาเรียนรู้ต้นตอของปัญหาและลดน้ำหนักแมวอย่างตรงจุด เพื่อคุณภาพชีวิตที่ดีของน้องแมวที่เรารักครับ –หมอเอ็ม Ultravet

แมวอ้วน

แมวอ้วน หรือ โรคแมวอ้วน เป็นภาวะที่น้องแมวมีน้ำหนักเกินกว่าเกณฑ์ปกติ ทำให้เกิดเป็นไขมันสะสมตามร่างกายในปริมาณมากกว่ากล้ามเนื้อ ซึ่งภาวะนี้เกิดได้จากหลายสาเหตุมากครับ ทั้งที่เกิดจากตัวเจ้าของเอง เกิดจากตัวน้องแมว และภาวะบางอย่าง เดี๋ยวเราลองมาเช็กกันสักนิดว่า น้องแมวที่บ้านเราอาจมีน้ำหนักตัวเกินจากสาเหตุอะไรได้บ้าง

อายุ, เพศ และลักษณะนิสัยส่วนตัว

โดยทั่วไปแล้ว ปัจจัยที่ทำให้แมวอ้วน หรือภาวะมีน้ำหนักเกิน มาจากเรื่องของอายุครับ ซึ่งน้องแมวที่มีอายุมากขึ้น เนื่องจากอัตราการเผาผลาญพลังงานลดลง ความกระตือรือร้นที่จะทำกิจกรรมต่าง ๆ ก็ลดลงเช่นกันครับ เช่น บางบ้านอาจสังเกตเห็นว่าน้องแมวที่อายุเยอะ แทบจะไม่วิ่งเล่น วิ่งซนเหมือนตอนเด็ก ๆ บวกกับการที่คุณพ่อคุณแม่ยังให้อาหารน้อง ๆ ที่มีพลังงานมาก ก็เป็นที่มาทำให้แมวอ้วนได้ครับ นอกจากนี้ ยังพบอีกว่าแมวอ้วนส่วนใหญ่ จะเป็นน้องแมวตัวเมียมากกว่าตัวผู้ รวมไปถึงปัจจัยของนิสัยส่วนตัว เช่น น้องแมวบางตัวชอบนอนมากกว่าวิ่งเล่น ซึ่งทั้งหมดนี้ ล้วนเป็นสาเหตุที่ทำให้น้ำหนักแมวเพิ่มขึ้น จนเกิดภาวะโรคแมวอ้วนครับ

ทำหมัน

หลังการทำหมันแล้ว น้องแมวอาจมีแนวโน้มที่จะเป็นโรคแมวอ้วนได้ง่ายมากครับ นั่นก็เพราะการทำหมันส่งผลให้ฮอร์โมนเพศลดลง รวมถึงมีการเผาผลาญพลังงานที่น้อยลง และหลังทำหมัน น้อง ๆ อาจมีอาการซึม เฉื่อยชา ส่งผลให้ไม่ค่อยลุกเดินหรือวิ่งเล่นเหมือนแต่ก่อน นอกจากนี้ การที่คุณพ่อคุณแม่บางบ้านไม่ได้มีการปรับสูตรอาหารให้เหมาะสมกับความต้องการพลังงานที่ลดลง อาจส่งผลให้แมวอ้วนได้เช่นกันครับ

แมวอ้วน

อาหารการกิน

ปัจจัยต่อมาที่ทำให้น้องแมวเสี่ยงเป็นโรคแมวอ้วน คือ เรื่องอาหาร ซึ่งแน่นอนว่า การให้อาหารน้อง ๆ ในปริมาณมากเกินไปในแต่ละมื้อและแต่ละวัน ย่อมทำให้ร่างกายเผาผลาญพลังงานไม่หมด จนเหลือเก็บสะสมในรูปแบบของไขมันส่วนเกิน และในบางครั้งการให้ขนมหลังมื้ออาหารหรือในระหว่างวันมากเกินไป ก็ส่งผลให้แมวอ้วนได้ครับ

เรื่องน่ารู้! แมวกินขนมแมวเลียได้กี่ซอง ไม่เสี่ยงอ้วน ไม่เสี่ยงโรค

ปริมาณที่แนะนำคือ สัปดาห์ละ 1-2 ซอง ก็เพียงพอแล้ว และสามารถให้ขนมแมวเลียเป็นรางวัลเพื่อฝึกให้น้องหัดทำกิจกรรมต่าง ๆ ได้อย่างราบรื่น เช่น ตอนอาบน้ำ ตัดขน นอกจากนี้ ควรเลือกขนมแมวเลียจาก 2 ปัจจัย ได้แก่

  • ยี่ห้อ ควรเลือกจากผู้ผลิตที่น่าเชื่อถือ ได้มาตรฐาน มีรายละเอียดวัน/เดือน/ปีที่ผลิต และวันหมดอายุ รวมถึงบอกส่วนประกอบอย่างชัดเจน
  • ส่วนผสม โดยเลือกเป็นสูตรลดเค็ม ปรุงรสน้อย มีปริมาณแคลอรี่ที่ไม่สูง

แมวอ้วน ดูยังไง

แมวอ้วน

ขอบคุณภาพจาก : cats.org.uk

หลายคนคงสงสัยนะครับว่า แมวอ้วน ดูยังไง เพราะบางทีก็แยกไม่ออกว่าอ้วนขน หรือว่าอ้วนเพราะไขมันส่วนเกิน สำหรับวิธีตรวจเช็กดูว่าน้องแมวที่บ้านเข้าข่ายเป็นโรคแมวอ้วนหรือยัง ก็สามารถทำได้ง่าย ๆ ครับ โดยคุณพ่อคุณแม่อาจสังเกตได้จากที่น้องเดินอุ้ยอ้าย เชื่องช้า เคลื่อนไหวน้อยลง และสังเกตได้จากรูปร่างของน้อง ๆ รวมถึงใช้วิธีจับคลำที่ลำตัวตามสัดส่วนต่าง ๆ

  • หัวไหล่และกระดูกซี่โครง ใช้มือคลำที่ลำตัวและช่วงหัวไหล่ หากจับไม่เจอซี่โครงหรือกระดูกหัวไหล่ แต่เจอเนื้อนิ่ม ๆ แสดงว่า น้องอาจเข้าข่ายภาวะแมวอ้วน
  • หน้าท้อง ในแมวอ้วนหรือมีภาวะโรคแมวอ้วน น้องจะมีหน้าท้องที่กลมยื่น หรือห้อยลงมาด้านล่าง ซึ่งสังเกตได้ชัดเวลามองด้านข้าง 
  • ช่วงเอว เมื่อมองจากด้านบนของลำตัว จะเห็นช่วงเอวที่กลมและขยายออกด้านข้าง
  • หลัง ใช้มือคลำบริเวณด้านหลัง หากจับเจอกระดูกสันหลังแมว แสดงว่าน้องแมวมีน้ำหนักตัวอยู่ในเกณฑ์ปกติ แต่หากสังเกตแล้วไม่เห็นหรือจับแล้วไม่เจอกระดูกสันหลัง จับแล้วเจอเนื้อหนา ๆ แสดงว่าน้องแมวอาจมีภาวะแมวอ้วน

แมวอ้วน ส่งผลต่อสุขภาพและจิตใจ

  • โรคผิวหนัง เมื่อแมวอ้วนจะเคลื่อนไหวตัว หรือเอี้ยวตัวไปเลียทำความสะอาดตัวเองได้ยากขึ้น ซึ่งอาจทำให้มีปัญหาเรื่องโรคผิวหนังตามมาได้ (อ่านเพิ่มเติมได้ที่ โรคผิวหนังสุนัข-แมว)
  • โรคเกี่ยวกับข้อต่อ เมื่อแมวอ้วนหรือมีน้ำหนักเกิน มักเดิน-วิ่งได้ลำบากขึ้น และสิ่งที่ตามมานั่นคือ ปัญหาโรคข้ออักเสบ เพราะต้องแบกรับน้ำหนักตัวที่มากเกินไป
  • โรคเบาหวาน เป็นโรคที่มักจะมาคู่กับโรคอ้วนแมว เพราะความอ้วนจะสัมพันธ์กันกับการทำงานของอินซูลิน
  • หายใจลำบาก จากการมีเนื้อเยื่อไขมันคลุมอยู่บริเวณช่องอก ส่งผลให้การยืดขยายช่องอกทำได้ยากกว่าปกติ จนเกิดปัญหาหายใจได้ลำบาก
  • โรคระบบทางเดินปัสสาวะ โดยเฉพาะโรคนิ่ว เนื่องจากความผิดปกติที่ระบบทางเดินปัสสาวะ
  • โรคซึมเศร้า ภาวะแมวอ้วนจะทำให้น้องแมวเคลื่อนไหวร่างกายได้ลำบาก ซึ่งเป็นอุปสรรคในการวิ่งเล่น วิ่งซนตามสัญชาตญาณ ทำให้เกิดความเครียด และมีอาการซึมเศร้าตามมาได้
  • ภาวะเสี่ยงต่อการผ่าตัด ในกรณีแมวอ้วนที่ต้องมีการผ่าตัดภายใต้การวางยาสลบ จะมีความเสี่ยงมากกว่าแมวที่มีรูปร่างและน้ำหนักแมวปกติ
ลงทะเบียนปรึกษาฟรี

มาตรฐานน้ำหนักแมว

นอกจากการสังเกตรูปร่างของน้องแมว ที่สามารถเช็กได้คร่าว ๆ แล้ว คุณพ่อคุณแม่ควรหมั่นสังเกตเรื่องน้ำหนักแมวให้อยู่ในเกณฑ์ปกติครับ โดยมาตรฐานน้ำหนักแมว (วัยโตเต็มที่) จะอยู่ที่ 4-5 กิโลกรัม สำหรับน้องแมวสายพันธุ์ไทยอาจตัวเล็กกว่า ซึ่งมีน้ำหนักแมวประมาณ 3 กิโลกรัม ส่วนแมวสายพันธุ์ใหญ่ โครงสร้างใหญ่ เช่น เมนคูน (Maine Coon) อาจมีน้ำหนักตัวตั้งแต่ 5-11 กิโลกรัมครับ

ทั้งนี้ หมอแนะนำให้คุณพ่อคุณแม่หมั่นสังเกตน้ำหนักแมวอยู่สม่ำเสมอ จากการสังเกตุรูปร่างและน้ำหนักแมว หากเริ่มพบว่า ลูก ๆ น้ำหนักตัวมากขึ้น ก็ให้เริ่มจากการปรับสูตรอาหาร และปรับปริมาณอาหารในแต่ละมื้อครับ โดยเน้นไปที่อาหารที่มีไฟเบอร์สูง กินแล้วอิ่มท้อง ซึ่งสามารถให้อาหารแมวสูตรลดน้ำหนักแมวโดยเฉพาะ รวมถึงควรกระตุ้นให้น้องแมวมีการเคลื่อนไหวทำกิจกรรมมากขึ้นครับ

วิธีลดน้ำหนักแมว

ก่อนวางแผนลดน้ำหนักแมวที่บ้าน หมอแนะนำให้คุณพ่อคุณแม่พาน้อง ๆ เข้ามารับความปรึกษาจากสัตวแพทย์ก่อนครับ ซึ่งสัตวแพทย์จะสามารถทำการประเมินน้ำหนักแมวที่ได้มาตรฐาน พร้อมทั้งวางแผนการลดน้ำหนักแมวอย่างถูกวิธี ค่อยเป็นค่อยไป รวมไปถึงในกรณีที่น้องแมวอ้วน หรือมีภาวะโรคแมวอ้วน ซึ่งอาจมีความเสี่ยงต่อโรคต่าง ๆ ก็ควรเข้ารับการตรวจสุขภาพอย่างละเอียด เช่น การตรวจเลือด หรือการตรวจปัสสาวะ เป็นต้น นอกจากนี้ คุณพ่อคุณแม่ควรมีวิธีการจัดการ เพื่อการลดน้ำหนักแมวที่บ้านอย่างได้ผล ดังนี้ครับ

ปรับโภชนาการ

หมอแนะนำให้ใช้การตวงอาหารให้น้อง ๆ ในปริมาณที่เหมาะกับช่วงวัยและน้ำหนักแมว โดยสังเกตได้จากคำแนะนำข้างบรรจุภัณฑ์ของผลิตภัณฑ์อาหารแมว รวมถึงในแมวที่โตเต็มวัยแล้ว (1 ปีขึ้นไป) ควรให้อาหารวันละ 1-2 มื้อก็เพียงพอแล้วครับ สำหรับการเลือกอาหารให้น้องแมวอ้วน หรือมีน้ำหนักตัวมากไป ควรคำนึงถึงหลักโภชนาการเป็นสิ่งสำคัญ ควรเลือกอาหารที่ไม่ปรุงรสชาติมากจนเกินไป หรือสูตรลดน้ำหนักแมวโดยเฉพาะครับ รวมถึงไม่ควรให้อาหารคนกับน้องแมวเด็ดขาดนะครับ เพราะอาหารคนมีการปรุงแต่งรสชาติที่เยอะมาก ซึ่งนอกจากจะทำให้แมวอ้วนแล้ว ยังส่งผลเสียกับสุขภาพตามมาได้ครับ

แมวอ้วน

ขยับให้บ่อย

นอกจากการปรับเปลี่ยนอาหารแล้ว อีกหนึ่งสิ่งที่ขาดไม่ได้เลยคือ การลดน้ำหนักแมวด้วยการให้น้อง ๆ ได้ออกกำลังกายครับ ทั้งนี้เพื่อเป็นการเผาผลาญพลังงานในร่างกายให้หมด โดยการใช้ของเล่นแมว เพื่อกระตุ้นให้น้องวิ่งไล่จับวัตถุต่าง ๆ ตามสัญชาตญาณนักล่า นอกจากจะได้ออกกำลังกายแล้ว การที่น้องแมวได้วิ่งเล่นอย่างสนุกสนาน ยังส่งผลดีกับสุขภาพจิต ลดความเครียดได้ดีอีกด้วยครับ

รักษาน้ำหนักแมวให้คงที่

เมื่อลดน้ำหนักแมวให้อยู่ในเกณฑ์ที่น่าพอใจแล้ว สิ่งสำคัญที่คุณพ่อคุณแม่ควรใส่ใจอย่างต่อเนื่อง นั่นคือ การรักษาน้ำหนักแมวให้คงที่ โดยหมั่นเช็กน้ำหนักตัวเป็นประจำทุก ๆ สัปดาห์ เพื่อเป็นการจัดการควบคุมดูแลอย่างถูกต้อง ป้องกันไม่ให้น้องกลับมาอ้วนได้อีก

สาระน่ารู้เกี่ยวกับน้องแมว

  • สงสัยไหมว่า อาหารที่น้องแมวกินได้มีอะไรบ้าง แล้วอะไรที่ห้ามกิน อ่านได้ที่ แมวกินอะไรได้บ้าง
  • น้องแมวเกาหูบ่อย เกิดจากอะไรกันแน่ อันตรายไหม อ่านได้ที่ โรคไรในหูแมว

สรุป

          ภาวะโรคแมวอ้วน นอกจากจะส่งผลต่อรูปร่าง การเคลื่อนไหวที่เชื่องช้า ส่งผลให้น้องมีอาการซึมตามมา ยังส่งผลกระทบต่อสุขภาพเป็นวงกว้าง ซึ่งส่งผลให้อายุขัยของน้องลดลงอีกด้วย ดังนั้น หมอจึงอยากให้คุณพ่อคุณแม่เริ่มดูแลเอาใจใส่ โดยการลดน้ำหนักแมวอย่างถูกต้อง ค่อย ๆ เป็น ค่อย ๆ ไป ซึ่งการที่จะทำให้น้องแมวอ้วนกลับมามีน้ำหนักตามเกณฑ์ปกติ จะต้องอาศัยความร่วมมือจากตัวคุณพ่อคุณแม่เองเป็นสำคัญ ทั้งนี้ ก็เพื่อให้น้อง ๆ มีสุขภาพกายใจและใจที่แข็งแรง อยู่กับเราไปได้นาน ๆ นั่นเองครับ

ติดต่อ – ปรึกษาแพทย์

  • Lakeside Villa 1 เลขที่ 901/3-5 (Shop 2) หมู่ 15 ถนน บางนา-ตราด, 
  • กรุงเทพมหานคร อำเภอบางพลี สมุทรปราการ 10540
  • เวลาทำการ : 09.00 – 20.00 น. (หยุดวันอังคาร)
  • เบอร์ติดต่อ : 065-526-5994
  • Line : @Ultravet

สัตวแพทย์ประจำ
Ultravet Pet Wellness Clinic

น.สพ.ศุภกิตติ์ สีดำ (คุณหมอเอ็ม)

ลงทะเบียนปรึกษาหรือรับสิทธิพิเศษ ที่นี่


    Leave a Reply

    Your email address will not be published. Required fields are marked *